วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

การลอกหน้าโดยใช้สารเคมี (chemical peeling)


การลอกหน้าโดยใช้สารเคมี (chemical peeling)

chemical peeling คืออะไร
ผิวหนังของคนเรา เป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผิวหนังประกอบด้วยชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลาจากชั้นลึก และจะมีการเคลื่อนจากชั้นลึก ขึ้นสู่ชั้นบน และลอกหลุดไปเป็นขี้ไคล ใช้ระยะเวลาประมาณ 28 วัน
การลอกหน้าด้วยสารเคมี เป็นการใช้สารเคมีทาบนผิวหน้า ทำให้เกิดการลอกหลุดของเซลล์ผิวหนังชั้นบน ตามมาด้วยการสร้างเซลล์ผิวหนังขึ้นใหม่จากข้างใต้ ผิวหนังใหม่จะมีความนุ่มนวล และสีผิวสม่ำเสมอกว่าเดิม นอกจากนั้นเชื่อว่า การที่ผิวหนังมีการอักเสบจากการใช้สารเคมีนี้จะทำให้มีการหลั่งสารหลั่งบางชนิด ไปกระตุ้นให้มีการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจน ในชั้นหนังแท้เพิ่มมากขึ้น

การลอกหน้าโดยใช้สารเคมี มีระดับความลึกต่างๆกัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง
๑. ชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้ เช่น glycolic acid 30-70%, trichloroacetic acid 10-30% , salicylic acid 30-50%, phenol(carbolic acid), Jessner's solution
๒. วิธีการขณะทำการลอกหน้า เช่น ทากี่ครั้ง ระยะเวลาที่สารเคมีสัมผัสผิวหน้า ใช้สำลีหรือแปรง การนวดผิวหน้าขณะทาสารเคมี
๓. ผิวหน้าของผู้รับการรักษาเอง แต่ละคนไวต่อสารเคมีมากน้อยต่างกัน นอกจากนั้นการได้การรักษาบางอย่างมาก่อน ก็มีผลเช่นกัน เช่น การทากรดผลไม้ (AHA), การทากรดวิตะมินเอ (Retinoic acid), การทายาจำพวกสเตียรอยด์ , การทายารักษาฝ้าบางชนิดเป็นเวลานานๆ จะทำให้ผิวหน้าไวต่อการลอกหน้ามากขึ้น

สิ่งที่คาดว่าจะได้ผลดีขึ้นจากการทำ chemical peeling
แพทย์ผิวหนัง ทำการลอกหน้าโดยใช้สารเคมี เพื่อรักษาภาวะต่างๆ เช่น
๑. การรักษาสิว การลอกผิวหนังช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด comedone
๒. ใช้ในการรักษาสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอบนใบหน้า จากกระ ฝ้าชนิดตื้น กระแดด ความผิดปกติของสีผิวที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้าแต่ภาวะบางอย่างที่มีความผิดปกติอยู่ลึก มักไม่ได้ผลจากการลอกหน้าด้วยสารเคมี เช่น ไฝ ขี้แมลงวัน รอยดำหลังการอักเสบที่มีเม็ดสีอยู่ในชั้นลึก เป็นต้น
๓. ใช้รักษาร่องรอยแผลเป็นจากสิว
๔. ใช้รักษาร่องรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ได้ผลกับรอยย่นที่ตื้นๆ
๕. รักษาโรคอื่นๆ ทางผิวหนัง เช่น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังจากแสงแดด ที่เรียก actinic keratosis ซึ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังได้ การรักษา xant้helasma ซึ่งเกิดจากมีไขมันมาสะสมที่ผิวหนังบริเวณเปลือกตา เป็นต้น

ขั้นตอนการทำ chemical peeling
หลังจากล้างหน้าให้สะอาดแล้ว จะมีการทาสารเคมีบนบริเวณใบหน้า ชนิด,ความเข้มข้น และระยะเวลาที่ทา ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละรายไป ระหว่างที่ทำการรักษา จะมีอาการแสบและรู้สึกยิกๆ บริเวณที่สารเคมีสัมผัส ในรายที่ทำการลอกหน้าชนิดลึก อาจมีอาการแสบร้อน จนถึงปวดได้

การดูแลผิวหลังการทำ chemical peeling
ลักษณะผิวหน้าหลังการลอกหน้า ขึ้นกับความลึกของการลอกหน้า ถ้าทำการลอกหน้าเพียงตื้นๆ อาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน อาจมีการลอกเป็นขุยๆ ซึ่งการใช้ครีม moisturizer จะช่วยให้ผิวกลับสู่สภาพปกติได้
ผิวหน้าหลังการรักษาจะไวต่อแสงแดด จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะ ช่วงเวลาระหว่าง ๑๐ โมงเช้า ถึง ๓ โมงเย็น ถ้าจำเป็นต้องออกไปกลางแดด ควรกางร่ม หรือใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 15 เป็นอย่างน้อย ก่อนออกไปกลางแดดประมาณ ๑/๒ ชั่วโมง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
-ในบางรายอาจมีสีผิวคล้ำขึ้นได้ โดยเฉพาะในรายที่มีสีผิวคล้ำอยู่แล้ว หรือรับประทานยาคุมกำเนิด หรือโดนแสงแดดมาก
-การเกิดแผลเป็น พบได้น้อยมาก มักพบในรายที่ลอกผิวหนังลงถึงชั้นลึก หรือในรายที่มีการอักเสบของแผลเกิดขึ้น หรือในคนที่เป็นคีลอยด์ง่าย นอกจากนี้มีรายงานว่า การรับประทานยาในกลุ่มกรดวิตะมินเอก่อนทำการลอกหน้า จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้มากขึ้น
-การติดเชึ้อเริมที่แผล โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติของเริมอยู่ก่อน
-ผลข้างเคียงที่รุนแรง การลอกหน้าโดยใช้สารเคมี มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ จึงไม่ควรทำโดยบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ เพราะอาจไม่มีความรู้เพียงพอถึงคุณสมบัติของสารเคมีที่ใช้ การลอกหน้าในปัจจุบัน สารเคมีที่นิยมใช้คือ กรดผลไม้ ในความเข้มข้นต่างๆกัน พบการแพ้น้อยมาก(แต่ก็มีรายงานการแพ้) ค่อนข้างปลอดภัย
สารเคมีชนิดที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ได้แก่ resorcinol, salicylic acid, phenol(carbolic acid)

สิ่งที่ผู้รับการรักษาควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทำการรักษา
๑. หากท่านมีประวัติ การเกิดแผลเป็นง่าย หรือมีแผลเป็นชนิดคีลอยด์
๒. หากท่านมีประวัติเคยเป็นเริม
๓.หากท่านใช้ กรดผลไม้(AHA), กรดวิตะมินเอ( Retinoic acid), ยาทาจำพวกสเตียรอยด์ ,ยาทารักษาฝ้า หรือกินยารักษาสิวในกลุ่มกรดวิตะมินเอ มาก่อน
๔. หากมีภาวะต่างๆ ดังต่อไปนี้ ควรเลื่อนการทำการลอกหน้าออกไปก่อน
- มีการอักเสบของผิวหน้า เช่นมีสิวอักเสบ
- มีรอยขีดข่วน หรือรอยถลอกบนใบหน้า
- กำลังมีการติดเชื้อเริม ที่ริมฝีปาก หรือบริเวณใบหน้า
- เพิ่งทำการผ่าตัดบนใบหน้าไปภายใน ๓ เดือน เช่น ผ่าตัดหนังตา ดึงหน้า เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เลเซอร์ (Laser)

เลเซอร์ (Laser) ย่อมาจากคำว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation เทคโนโลยี เลเซอร์ มีการประดิษฐ์คิดค้นมากว่า 40 ปี และในทางผิวหนังมีการนำมาใช้อย่างจริงจังกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันถือได้ว่า เทคโนโลยีด้านเลเซอร์นี้มีความนิ่ง ปลอดภัยสูง ผ่านการศึกษามามากจนได้มาตรฐานการรักษา ให้ผลดี สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้หลายชนิด ซึ่งไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการอื่น

เมื่อพูดถึง เลเซอร์ผิวหนัง คนส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่า เลเซอร์มีเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วเลเซอร์มีหลายชนิดขึ้นกับแหล่งกำเนิดของแสงเลเซอร์ และมีข้อบ่งชี้ในการใช้แตกต่างกัน หลักการของเลเซอร์ผิวหนัง อาศัยหลัการที่ว่า Selective Photothermolysis กล่าวคือในการทำงานของ เลเซอร์เพื่อให้เกิดผลของการรักษานั้น อาศัยการทำให้เกิดความร้อนขึ้นในตำแหน่งที่ต้องการ นอกจากความร้อนแล้วก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปฏิกริยาทางเคมี และ พลังของคลื่นเสียง (Acoustic shockwave) ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความร้อน โดยที่สามารถกำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดความร้อนได้โดย การกำหนดช่วงความยาวคลื่นของแสงให้เหมาะสม กำหนดระดับความลึกของตำแหน่งเป้าหมายด้วยขนาดของลำแสง (spot size) และความยาวคลื่นของแสง กำหนดขอบเขตการทำลายเนื้อเยื่อจากระยะเวลาของการฉายลำแสง (pulse width) และความถี่ของการยิงแสง (Frequnecy) ปัจจัยที่กล่าวถึงเหล่านี้ ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกัน สำหรับตัวรับแสงที่ผิวหนัง โดยธรรมชาติแล้ว มีอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ น้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ของผิวหนัง, เม็ดสีน้ำตาล หรือดำของ melanin pigment , และสีแดงของเม็ดเลือด หรือ Hemoglobin
นอกจ ากนี้ตัวรับแสงก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในผิวหนังโดยธรรมชาติ เช่น เม็ดสีที่เกิดจากการสักหรือ สารที่เราทาลงไปที่ผิวหนังเพื่อให้เกิดผลในการรักษา เช่น aminolevulinic acid (ALA) ที่ใช้ในการรักษาที่เรียกว่า Photodynamic therapy

ปัจจุบัน สามารถจำแนกประเภทของ เลเซอร์ผิวหนังตามลักษณะการใช้ได้ดังนี้ 1. เลเซอร์ที่ใช้ในการลอกผิวออก (Ablative resurfacing) ซึ่งมีตัวรับแสงเป็นน้ำที่อยู่ในเซลล์ เลเซอร์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ Carbondioxide Laser และ Erbium : Yag Laser ซึ่ง เลเซอร์เหล่านี้มักจะใช้ร่วมกับส่วนประกอบที่เป็นหัวสแกนที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ (computerized flashscan) เพื่อให้มีความสม่ำเสมอ และรวดเร็วในการลอกเอาผิวหนังออก การรักษาด้วยวิธีนี้ ผิวหนังชั้นบนจะถูกลอกออกเป็นแผล ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ใช้ในการแก้ไขรอยแผลเป็นจากสิวที่เป็นมาก และแก้ไขปัญหาผิวหนังที่เกิดจากอายุ เช่นริ้วรอย จุดดำ กระ 2. เลเซอร์ที่ใช้รักษาหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดฝอย , ปานแดง เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ Pulsed dye Laser และเลเซอร์ที่ใช้รักษาเส้นเลือดดำที่อยู่ลึกลงไปกว่าเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนัง เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ Long pulsed Nd:Yag , Long pulsed Diode Laser เลเซอร์ในกลุ่มนี้ นอกจากนำมาใช้รักษาหลอดเลือด แล้วยังมีการนำมาใช้รักษารอยแผลเป็นที่เป็นแบบนูนหนา (Keloid และ Hypertrophic scar) ตลอดจนรอยแตกของผิว (Striae) ได้ผลดีในระดับหนึ่ง 3. เลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาเม็ดสี และรอยสัก เลเซอร์ที่ใช้ ได้แก่ frequency-double Q-Switched Nd:Yag Laser และ Q-Switched Alexandrite Laser โรคที่รักษาได้ผลดีพอสมควรได้แก่ ปานดำ, ปานโอตะ, กระลึก (Hori?s nevus) แต่การนำมารักษาฝ้ายังได้ผลไม่ดีนัก ส่วนรอยสักที่ได้ผลดี จะเป็นรอยสักที่มีสีเข้ม เช่นสีดำ, น้ำเงิน หรือแดง ส่วนสีเขียว และเหลืองได้ผลไม่ดีนัก

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

คำแนะนำ......เกี่ยวกับผิว

คำแนะนำ การดูแลผิวเมื่อรักษาสิว

1. งดการใช้ครีม และเครื่องสำอางค์ต่างๆ โดยเฉพาะครีมกันแดด เนื่องจากทำให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย
2. ล้างหน้าตามแนวโพรงขน เพื่อลดการเกิดการอุดตันที่รูขุมขน
** การทาครีม,เช็ดเครื่องสำอางค์,เช็ดหน้า ก็เช่นเดียวกัน
3. การทำความสะอาดหน้าบ่อยๆ โดยเฉพาะการเช็ด ถู หรือขัดผิว เนื่องจากเข้าใจว่า บริเวณที่เป็นสิวสกปรกยิ่งทำให้สิวแย่ลงและการอักเสบมากขึ้น
4. ห้าม... กด แกะ บีบ หรือ ฉีดสิว เพราะจะทำให้เกิด รอยแดง,รอยดำ และหลุมสิวถาวร
ซ้ำยังทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบมากขึ้นได้
5. พึงระวังการรับประทานอาหารจำพวก นม เนย ถั่ว เค้ก ทุเรียน กล้วย ข้าวซ้อมมือ วิตามินบีรวม
** เนื่องจาก เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ ทำให้เกิดสิวบริเวณคางได้สูง
6. การรักษาสิวมีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง ถ้าเป็นน้อยใช้เพียงยาทาภายนอกก็ได้
แต่ถ้าเป็นสิวอุดตันและอักเสบรุนแรง การใช้ยารับประทานควบคู่กับการยาทาภายนอกจะเห็นผลดีมากขึ้น
ซึ่งหากกลัวเรื่องการใช้ยารับประทานปริมาณมากๆ ทางออกที่มี คือ การรักษาโดยใช้เลเซอร์



การปฏิบัติตัวก่อนและหลังจากยิงเลเซอร์

ก่อนการยิงเลเซอร์ ไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องงดยาโรคประจำตัวใดๆ เลเซอร์สามารถใช้รักษาสิวควบคู่กับการรับประทานยาและการทายาได้ เพื่อช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งแนวการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
หลังการยิงเลเซอร์ ไม่มีรอยแผลใดๆ มีเพียงหน้าแดงเล็กน้อยหลังยิงเพียง 1/2-1 ชม.เท่านั้น สามารถล้างหน้า แต่งหน้าได้ตามปกติ และไปทำงานหรือเดินเที่ยวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงแดด ที่ทำให้ผิวหน้าไหม้ เพราะผิวหน้าไม่ได้บางลง



ข้อดีของการรักษาสิวด้วยเลเซอร์

1. ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และไม่เกิดรอยแผล ไม่มีเลือดออก
2. สามารถรักษาสิวที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
3. ลดปริมาณการใช้ยาทา และยารับประทาน (ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา)
4. ช่วยแก้ไขรอยแผลเป็น รอยแดง และรอยดำ พร้อมๆไปกับการรักษา
5. ใช้รักษาสิว กรณีที่ แพ้ยา, โรคตับ และตั้งครรภ์ ได้


คำแนะนำ การดูแลผิวหลังทำ dermaroller

1. ไม่ควรล้างหน้าหลังทำประมาณ 3 ชั่วโมง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนจับใบหน้าหลังทำ
2. อาจจะมีอาการปวดแสบร้อนที่ผิวหน้าเล็กน้อยได้ และจะดีขึ้นใน 1-2 ชั่วโมง สามารถรับประทานยาแก้ปวด ได้
3. ผิวหน้าจะเริ่มแดง (มากน้อยแล้วแต่สภาพสีผิว) หลังทำวันที่ 1-3 ในบางคนผิวหน้าจะแดงจางๆต่อไปได้5-7 วัน สามารถแต่งหน้าได้ในวันรุ่งขึ้น
4. สามารถใช้ครีมสมานผิว ครีมบำรุงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวได้ ในวันที่2 หลังทำ
5. ผิวหน้าจะเริ่มแห้ง ตกสะเก็ด และลอกออก หลังทำวันที่3



คำแนะนำการดูแลผิวหลังฉีด Botox

- อยู่ในท่าตรง นั่งหรือยืน และบริหาร กล้ามเนื้อมัดที่ฉีดบ่อยๆภายใน 3 ชั่วโมงแรก หลังฉีด
- ควรล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด และใช้วิธีซับใบหน้าเบาๆ ไม่ควรนวด หรือ ถูหน้าแรงๆ
- ให้มาพบแพทย์ตามนัด

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2551

MORPHOLOGY OF PRIMARY AND SECONDARY SKIN LESIONS

Morphology of skin lesions



การที่มีคำศัพท์เฉพาะเพื่ออธิบายรอยโรคต่างๆ เป็นสิ่งคำคัญ เนื่องจากโรคทางผิวหนังส่วนหนึ่งสามารถ วิจนิจฉัยได้จากการดูรอยโรค การอธิบายเพื่อสื่อความหมายไปในแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้สามารถเข้าใจรอยโรคโดยที่ไม่ได้เห็น หรือสัมผัส ด้วยตนเองได้


คำศัพท์เฉพาะของรอยโรคทางผิวหนัง
การเรียนรู้คำศัพท์เฉพาะแบ่งได้ ดังนี้ .............
... 1. Primary skin lesions
... 2. Secondary skin lesions
... 3. Special skin lesions


โดยอาศัย การอธิบายรอยโรคง่ายๆ เช่น

- Size
- Color or additional descriptive terms ( e.g., pigmentation,shape)
- Type of primary, secondary, or spacial skin lesions (e.g., papule,macule)
- Arrangement (e.g., ground lesions)
- Distribution (e.g., truncal,generalized)



1. Primary skin lesions
เป็นรอยโรคที่ผิวหนังระยะเริ่มแรก ที่ไม่มีการบาดเจ็บ รอยแผล จากการแกะเกา หรือขัดถู เช่น ...



..Macules _____Wheals
..Papules _____Vesicles
..Plaques _____Bullae
..Patches _____Pustules
..Nodules _____Cysts



-- Macule รอยโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะสี ลักษณะแบนราบ เรียบ ไม่นูน เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ซม. เช่น Tinea versicolor,Cafe au lait ,Vitiligo,Freckle,Junctional nevi,Ink tatoo



-- Patch รอยโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะสี ลักษณะแบนราบ เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. เช่น Nevus flammeus,Vitiligo



-- Papule รอยโรคที่นูนแข็งเหนือระดับผิวหนัง ผิวอาจเรียบ ขรุชระหรือบุ๋มตรงกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 ซม. เช่น Acrochonordon(skin tag),Basal cell carcinoma,Molluscum contagiosum,Intradermal nevi



-- Plaque รอยโรคที่นูนแข็งเหนือระดับผิวหนัง ผิวอาจเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 ซม. เช่น Bowen 's disease,Mycosis fungoides,Psoriasis,Eczema,Tinea corporis


-- Nodule รอยโรคแบบนูนแข็ง รูปร่างกลมหรือรี และ ลึกไปใต้ผิวหนัง เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ซม. เช่น Rheumatoid nodule,Tendon xanthoma,Erythema nodusum,Lipoma,Metastatic carcinoma

-- Cyst รอยโรคแบบนูน รูปร่างกลมหรือรี และ ลึกไปใต้ผิวหนัง เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 ซม. เช่น Acne,Epidermal inclusion cyst,Pilar cyst



-- Vesicle ตุ่มน้ำใส มีของเหลวอยู่ภายใน อาจเป็นน้ำเหลืองหรือเลือดก็ได้ ผนังตุ่มมักบาง เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ซม. เช่น เริม(Herpes simplex), อีสุกอีใส ,Herpes zoster,Dyshidrotic eczema,Contact dermatitis


-- Bulla ตุ่มน้ำใส มีของเหลวอยู่ภายใน อาจเป็นน้ำเหลืองหรือเลือด เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.5 ซม. เช่น Pemphigus vulgaris,Bullous pemphigoid,Bullous impetigo



-- Pustule vesicle or bulla ตุ่มหนองสีเหลือง สีขาว หรือเขียว อาจเกิดที่ผิวหนังทั่วไปหรือที่รูขุมขน เช่นFolliculitis , Impetigo , Acne ,Pustular psoriasis


-- Wheal ผื่นผิวหนัง หรือเยื่อบุบวมนูน จากการบวมน้ำในชั้นหนังแท้ มีขอบเขต อาจจะเป็นpapule หรือเป็นplaque รูปร่างจะเปลี่ยนแปลง บวมเร็ว ยุบเร็ว และคัน พบมากใน urticaria อาจหายเองโดยไม่ต้องรักษา เช่น Urticaria,Dermographism,Urticaria pigmentosa


-- Verrucous เป็นผิวหนังที่ขรุขระคล้ายหงอนไก่


2. Secondary skin lesions

รอยโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงมาจาก primary skin lesions โดยเกิดจาก scratching,scrubbing,or infection เช่น...


..Crusts _______Scale

..Ulcers _______Fissures

..Excoriations ___Scars

..Erosions



-- Crust สะเก็ดแห้งกรังบนผิวหนัง ของเนื้อเยื่อ,น้ำเหลืองและเลือด(scab)



-- Scale ขุยบางๆ หรือแผ่นสะเก็ดซึ่งเป็นผลจากการหลุดลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดเร็วกว่าผิวหนังปกติ



-- Fissure ร่องรอยแตกของ ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจนถึงหนังแท้





-- Erosion รอยถลอกเกิดจากชั้นกำพร้าหลุดไป หายได้ไม่เป็นแผลเป็น



-- Ulcer รอยแผลที่เกิดจากชั้นกำพร้าหลุดไป เป็นแผลลึกไปถึงชั้นหนังแท้ หรือชั้นไขมันได้


-- Scar บริเวณที่มี fibrosis or new connective tissure ของชั้นหนังแท้


-- Atrophy ผิวหนังที่บางลงกว่าเดิม เป็นได้ ทั้งชั้นหนังกำพร้าหรือชั้นหนังแท้ รวมถึง ชั้นไขมัน การบางลงของผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะทำให้เกิดรอยย่นตื้นๆ และการบางลงของผิวชั้นหนังแท้หรือชั้นไขมันส่งผลให้เกิดรอยบุ่ม


-- Lichenification ผิวหนังที่แห้ง ด้าน หนาและ แข็ง กว่าปกติ เกิดจากการเกาหรือถูเรื้อรังเป็นเวลานาน

-- Excoriation รอยถลอกจากการเกาบนผิวหนังคล้ายรอยขีดข่วน



3. Special lesion



..Telangiectasias____Purpura
..Petechiae________Comedones
..Burrows_________Target lesions


-- Telangiectasia ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติ จากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอย(capillaries,arterioles,or venules) มีลักษณะเห็นเป็นเส้นแขนงเส้นเลือดฝอยสีแดง แตกเป็นกิ่งก้านสาขาบริเวณผิวหนัง พบรอยโรคนี้ได้จากโรค เช่น dermatomyositis, SLE , progressive systemic sclerosis และ พบบ่อยในกลุ่มที่ใช้ยาทาสเตียรอยด์,ถูกแสงแดดเป็นเวลานานๆ อีกทั้งสามารถพบได้ที่เนื้องอกประเภท nodulo-ulcerative basal cell carcinoma




-- Burrow เป็นเส้นทางเดินตื้นๆของพยาธิใต้ผิวหนัง โดยผ่านผิวหนังชั้นหนังกำพร้า เช่น ตัวหิด ไร บริเวณข้อมือ และ ง่ามนิ้ว

-- Comedo คือการสะสมไขมันและเศษผิวหนังที่หลุดลอก มีการอุดตันที่รูขุมขน จนเกิดเป็นสิวอุดตันได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สิวหัวเปิด (สิวหัวดำ) และ สิวหัวปิด (สิวอุดตันที่ไม่มีรูเปิด)

-- Petechiae เป็นจุดเลือดออกขนาดเล็กในชั้นผิวหนัง (เล็กกว่า purpura) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มม.



-- Purpura เป็นจุดเลือดออกขนาดเล็กในชั้นผิวหนัง ขนาดใหญ่มากกว่า 5 มม.





-- Target lesion รอยโรคคล้ายเป้ายิงธนู ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ตรงกลางมีสีเข้ม วงรอบนอกออกมามีสีจางกว่า และริมสุดสีแดง ซึ่งพบได้ในโรค erythema multiforme



Color or pigmentation

-- Depigmentation ไม่มีเซลล์สร้างเม็ดสี ที่เรียกว่า melanocytes จึงทำให้ไม่มีสี พบในโรคด่างขาว

-- Hypopigmentation ผิวสีอ่อนหรือจางกว่าสีผิวปกติ เกิดจาก มีจำนวน melanocytes ปกติ แต่การผลิตเม็ดสีลดลง พบได้ในโรค tuberous sclerosis

-- Hyperpigmentation ผิวสีเข้มกว่าผิวปกติ พบได้ในโรค junctional nevi, cafe au laitmacules(neurofibromatosis)

-- Erythematous ผิวมีสีแดง


Arrangements or configurations


-- Annular ใช้อธิบายรอยโรคที่มีลักษณะคล้ายแหวน (ring-shaped) พบลักษณะ Annular plaques ได้ในโรค granuloma annular ,tinea corporis(ring worm) ,and erythema marginatum


-- Gyrate ใช้อธิบายรอยโรคที่โค้งเป็นวง (to turnaround in a circle) พบน้อย เช่น erythema gyratum repens


-- Dermatomal ใช้อธิบายรอยโรคที่เกิดตาม แนวของเส้นประสาทที่ผิวหนัง(neurocutaneous dermatomes) เช่น โรคงูสวัด พบว่าเป็น grouped vescicles on an erythematous base in a dermatomal distribution


-- Linear ใช้อธิบายรอยโรคที่เป็นเส้น เช่น allergic contract dermatitis to poison ivy;ลักษณะ linear erythematous papules or vescicles


-- Grouped ใช้อธิบายลักษณะการรวมกลุ่มของรอยโรค เช่น herpes simplex ; ลักษณะ grouped vesicles on an erythematous base


Koebner phenomenon

การเรียงตัวของผื่นเป็นทางยาวบนรอยเกา หรือรอยแผล พบได้ใน lichen planus, lichen nitidus ,and psoriasis


Location สามารถบ่งชี้ถึงโรคนั้นๆได้
เช่น Seborrheic dermatitis พบรอยโรคที่บริเวณ scalp,nasolabial fold,retroauricular areas,eyelids,eyebrows and presternal areas ยกเว้น ตามแขนขา ส่วน Psoriasis พบรอยโรคที่บริเวณ extremities( elbows,knees) ,intergluteal fold, scalp, and nails










































































































































เรื่อง... ผิวหนัง ( Structure and Function of the Skin )

Structure and Function of the Skin






ผิวหนัง ประกอบด้วย 3 ชั้น คือ


1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นที่อยู่บนสุด องค์ประกอบหลัก คือ keratinocytes or epidermal cells

2. ชั้นหนังแท้ (Dermis หรือ corium) เป็นชั้นที่อยู่ใต้ชั้นหนังกำพร้า องค์ประกอบหลัก คือ collagen และมี hair follicles ,sebaceous glands ,apocrine glands ,and eccrine glands รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมี blood vessles ,lymphatics, and nerves เป็นจำนวนมาก

3. ใต้ชั้นหนังแท้จะเป็นชั้น Hypodermis , Subcutis หรือ Subcutaneous fat ซึ่งประกอบไปด้วย เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่อยู่กันอย่าง หลวมๆ (loose connective tissues) และไขมัน (Adipose tissues) ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน ในแต่ละส่วนของร่างกาย ร่วมกับ larger blood vessles ,and nerves และนอกจากนี้ ยังมีส่วนใต้สุดของ hair follicle and sweat glands รวมอยู่ด้วย





ผิวชั้นหนังกำพร้า (EPIDERMIS)

มีความหนาโดยเฉลี่ยประมาณ 0.4 ถึง 1.5 มิลลิเมตร เทียบกับความหนาทั้งหมดของผิวหนัง (skin) ซึ่งมีความหนาเฉลี่ยโดยประมาณ 1.5-4.0 มิลลิเมตร ความหนาของชั้น epidermis นี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณของร่างกาย

ประกอบไปด้วย ...

-- Keratinocytes กลุ่มเซลล์ที่มีการเกิด เจริญเติบโตพัฒนาการ และตายลอกหลุดออกไปจากร่างกายตลอดเวลา
-- Dendritic cells เซลล์กลุ่มนี้คือกลุ่มเซลล์ที่มีรูปร่างคล้ายกันคือมี cytoplasm ยื่น ( dendritic processes) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ 3 ชนิด คือ Melanocytes , Merkel cells และ Langerhans cells
-- Skin derivatives or appendages อันได้แก่ ขน รูขุมขน (Hair Follicle) และต่อมไขมัน (the sebaceous follicle, sebaceous glands, and sebaceous ducts) รวมเรียกว่า Pilosebaceous units / ต่อมเหงื่อ (sweat glands) และเล็บ (Nails)


ชั้นหนังกำพร้ามีเซลล์ 4 ชนิด
1. เซลล์ผิวหนัง (Keratinocyte) พบส่วนใหญ่ 90%
2. เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) พบได้ 8 %
3. เซลล์ช่วยป้องกันเชื้อโรค (Langerhans cells)
4. เซลล์ที่ส่งความรู้สึกไปยังเซลล์ประสาท (Merkel cells)



เมื่อเซลล์ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนตัวออกมา ชั้นบนเรื่อยๆ ทำให้สามารถแบ่ง epidermis ออกเป็นชั้นต่างๆ โดยแต่ละชั้นก็จะมี keratinocytes ที่อยู่ใน ระยะต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลง Epidermis จะแบ่งออกเป็น 4 หรือ 5 ชั้น ดังนี้























1. Basal Cell Layer or Stratum germinativum ( 1 Layer )


-ชั้นนี้จะอยู่ชั้นล่างสุด ติดกับ basement membrane
-ประกอบไปด้วยเซลล์ที่เรียงตัวกันชั้นเดียว ที่ชื่อว่า basal cells ซึ่งเป็น germinative cell ก่อให้เกิดการพัฒนาและการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ซึ่งระหว่างเซลล์ Basal ประมาณ 7 ตัว จะมีเซลล์ Melanocytes 1 ตัว



basal cell แบ่งตัวให้กำเนิด keratonocytes และเคลื่อนที่มาชั้นบน กลายเป็นชั้นที่มีชื่อเรียกว่า Stratum spinosum ต่อไป

2 Germinative Layer ( Prickle cell layer or Stratum spinosum ) ( 10-13 Layers )

-ประกอบไปด้วย keratinocyte ที่มีรูปร่างขนาดใหญ่ หลายเหลี่ยม คล้ายมีหนามยื่นออกมาจากผิวเซลล์ (spine) เซลล์ในชั้นนี้มีหนามแหลมยื่นออกจากตัวเซลล์ จึงเรียกเซลล์ในชั้นนี้ว่า prickle cell
-ชั้นนี้ได้ชื่อตามรูปร่าง ของเซลล์ มีการสร้าง organelles ชนิดใหม่ที่เรียกว่า lamella granules หรือ membrane-coating granules (MCG) กระจายอยู่ทั่วไป



3. Granular Layer or Stratum granulosum ( 2-3 Layers )


-ชั้นนี้ได้ชื่อตามลักษณะของเซลล์ คือ granular cells
-เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างค่อนข้างแบน ภายใน cytoplasm บรรจุด้วย keratohyaline granules
ซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีน
Profilaggrin keratin filament
• Loricrin
ทั้ง filaggrine keratin filament และ cornefied cell envelope จะรวมเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงของ keratin (ขี้ไคล)
-จะเห็นได้ว่า keratohyaline granules เป็นโครงสร้างที่มีความสำคัญ หากเกิดความผิดปกติขึ้น หรือ ว่าหายไป ก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ในกลุ่มโรค ichthyosis
-เมื่อเซลล์เคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงมาจนถึงตำแหน่งรอยต่อระหว่าง granular cell กับ corneocyte เซลล์ก็จะเปลี่ยนกลายเป็น corneocytes ในชั้น Stratum corneum



4. Cornifiled Layer ( Horny Layer or Stratum corneum) ( 10-20 Layers )


-ชั้นนี้ประกอบ ด้วยเซลล์ที่ชื่อว่า corneocyte ซึ่งเปลี่ยนมาจาก granular cell
-ภายใน cell ไม่มี organelles ชนิดใด ยกเว้น keratin ที่สมบูรณ์ แล้ว (mature keratin) เซลล์ ในชั้นนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุดใน epidermis
-เซลล์ในชั้นนี้มีหน้าที่ปกป้องผิวจากภยันตรายภายนอก (Mechanical protection), ป้องกันการสูญเสียน้ำไปจากผิวหนัง (Barrier to water loss) และเป็นด่านผ่านทางของยาหรือสารต่างๆ จากภายนอก
-ในชั้นนี้ Desmosome ซี่งเป็นตัวยึดระหว่างเซลล์จะเริ่มถูกทำลาย ทำให้แต่ละเซลล์แยกจากกันเริ่ม ขบวนการที่เรียกว่า Desquamation คือ การลอกหลุดของ corneocytes ออกไปเป็นขี้ไคล (keratin)
-ถ้าหาก ขบวนการ Desquamation ผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดโรคในกลุ่ม ichthyosis



-ชั้น Stratum corneum นี้จะมีความหนาบางแตกต่างกันในแต่ละบริเวณของร่างกาย
• Thick skin คือ ผิวหนังที่มีชั้น epidermis หนา โดยเฉพาะstratum corneum พบบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ซึ่ง thick skin นี้จะไม่มี ขน รูขุมขน และกล้ามเนื้อ Arrector pili muscles (ยึดอยู่ระหว่างต่อมขนและ papillary layer ของหนังแท้ ) แต่จะมีต่อมเหงื่อ eccrine sweat glands เป็นจำนวนมาก
• Thin skin คือ ผิวหนังที่มีชั้น epidermis บาง พบได้ทั่วร่างกาย ยกเว้น บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ซึ่งผิวหนัง ชนิดนี้จะมี skin derivatives ทุกชนิด คือ รูขุมขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และต่อม Apocrine sweat gland


-Thick skin นั้น จะมีชั้น Stratum lucidum เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชั้น ซึ่งชั้นนี้ จะไม่พบใน Thin skin ทั่วๆ ไป
5. Stratum lucidum


-เป็นชั้นบางๆ แทรกอยู่ระหว่างชั้น granular cell layers และ stratum corneum พบเฉพาะบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้าเท่านั้น (Thick skin)
-สาร glycolipid ที่อยู่ใน MCG ถูกปล่อยออกมาอยู่ระหว่างเซลล์มากกว่าบริเวณอื่น จึงเห็นเป็นชั้นนี้ขึ้น ซึ่งชั้นนี้จะไม่พบในผิวหนังบริเวณทั่วๆ ไป (Thin skin)


วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551

วิธีการรักษาสิว



... ปัจจุบันการรักษาสิวมีอยู่หลายวิธี

เนื่องจากได้มีการพัฒนา คิดค้นและหาวิธีการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสิว โดยแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อด้อย หรือข้อเสีย แตกต่างกัน ขึ้ันอยู่กับว่า วิธีนั้นๆ จะเหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละคนหรือไม่ ดังนั้นการทำความรู้จัก วิธีการรักษาสิว แต่ละวิธี จึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจรักษา


หลักเกณฑ์ในการรักษาสิว ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา ตามพยาธิกำเนิด โดย ลดการอุดตันของต่อมไขมันและเชื้อแบคทีเรีย แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า การรักษาไม่สามารถจะรักษาสิวให้หายอย่างรวดเร็วทันใจภายใน 1 วันได้ การรักษาจะพอเห็นผลดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยภายใน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสมก็สามารถป้องกัน การเกิดรอยแผลเป็นและหลุมสิวได้อีกด้วย


วิธีการรักษาสิว

- 1... รักษาด้วยยาทาภายนอก

- 2... รักษาด้วยยาชนิดรับประทาน

- 3... รักษาด้วยวิธีทางกายภาพ

- 4... รักษาด้วยเลเซอร์


1... ยาทาภายนอก ...

เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย กรณีที่เป็นสิวชนิดไม่รุนแรงหรือไม่มีการอักเสบ มักจะใช้ยาทาภายนอก อาจจะใช้ชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ดังนี้

--- Benzoyl peroxide เช่น BP, Benzac, Panoxyl, Brevoxyl ,...

มีทั้งชนิดครีมหรือเจล 2.5% 5% 10% ใช้ทาก่อนล้างหน้า 5-15 นาที
หน้าที่
- ช่วยลดการอักเสบ ลดปริมาณไขมันใต้ผิวหนัง และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
ยานี้จะทำให้ผิวหนังลอกหลุดเร็วขึ้น ทำให้ปริมาณหัวสิวลดลงได้
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- ระคายเคือง ผิวแห้ง ลอกเป็นขุย : ในระยะแรกของการใช้ยาควรจะเริ่มใช้ยาในขนาดความเข็มข้นต่ำๆ ทาระยะเวลาสั้นแล้วล้างออก เมื่อผิวหนังทนต่อยาจึงเพิ่มความเข้มข้น และทาไว้นานขึ้นได้
- ใช้เวลาในการรักษานาน หลังทา2-3 สัปดาห์อาการสิวจะดีขึ้น


--- สารลอกผิว เช่น salicylic acid, AHA, BHA หรือ กรดผลไม้ชนิดต่างๆ

มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ครีม เจล โลชั่น ครีมล้างหน้า ใช้วันละ 2 ครั้ง
หน้าที่
- ช่วยเร่งการหลุดลอกของผิวหนัง และ หัวสิว สามารถใช้ในการรักษาสิวที่ไม่รุนแรง แต่ไม่ได้ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือลดการสร้างไขมัน
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- ระคายเคือง ผิวลอกเป็นขุย : เมื่อใช้ความเข้มข้นสูงๆ
- หน้าบางลง : เมื่อใช้ความเข้นข้นที่สูง เป็นเวลานานๆ
- ด่างขาว, เส้นเลือดผิดปกติ, หน้าแดงและบาง : เนื่องจากในสารลอกผิวมีการผสมสารบางอย่างเช่น สเตียรอยด์ โฮโดรควิโนน ร่วมด้วย


--- ยาทาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ เช่น CM ,Clindamycin,Erythromycin,...

มีหลายรูปแบบ ทั้ง โลชั่น เจล ครีม ใช้ทาวันละ 2 ครั้งหลังล้างหน้า
หน้าที่
- ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก ทำให้การอักเสบลดลง จำนวนสิวลดลง
- เมื่อใช้ร่วมกับ Benzoyl peroxide จะทำให้ได้ผลดีมากขึ้น
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- การทายาบ่อยๆไม่ได้ช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น กลับกันจะทำให้สิวแย่ลง เนื่องจากการระคายเคือง
- อาจมีอาการแพ้ได้
- ใช้เวลาในการรักษานาน อาจจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน
- ยากลุ่มนี้ถ้าใช้ต่อไปนาน ๆ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาได้

--- ยาทาเรตินอยด์ ( อนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ) เช่น Tretinoin, Isotretinoin, Adapalene, ...

มีหลายรูปแบบ เช่น เจล ครีม และหลายความเข้มข้น ใช้ทาวันละครั้งก่อนนอน เนื่องจากสารเรตินอยด์สลายตัว เมื่อโดนแสงแดด
หน้าที่
- ช่วยเพิ่มการลอกตัวของผิวหนัง ลดปริมาณไขมัน และลดการอักเสบ แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
** ใช้รักษาสิวอุดตันได้ดี
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้สิวอาจแย่ลง หลังใช้ยา 3-4 สัปดาห์แรก ก่อนที่จะดีขึ้นภายหลัง
- ระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์



2... ยาชนิดรับประทาน ...

เนื่องจากประสิทธิภาพของยาทาค่อนข้างจำกัด จึงใช้ได้ในผู้ที่เป็นสิวไม่รุนแรงนัก ดังนั้นในกรณีที่เป็นสิวค่อนข้างมาก และรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาชนิดรับประทานร่วมด้วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


--- ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อ เช่น Ampicillin, Doxycycline, Erythromycin, Bactrim

ใช้ในกรณีที่มีการอักเสบของสิว เป็นสิวค่อนข้างมาก และการใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากอาจมีอาการแพ้ยา เชื้อดื้อยา และ ผลข้างเคียงต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือ ยาฆ่าเชื้อแต่ละชนิด ใช้ปริมาณยาไม่เท่ากันในแต่ละคน ระยะเวลาที่ใช้ก็แตกต่างกัน
*** ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือซื้อยารับประทานเอง

หน้าที่
- ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก ทำให้การอักเสบลดลง จำนวนสิวลดลง
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- ผมร่วง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ผื่นคัน ผื่นแพ้ยา หรือ อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
- ตับอักเสบ
- ตกขาว เนื่องจากเป็นเชื้อราในช่องคลอด
- ในปัจจุบันมีการซื้อยาปฏิชีวนะใช้เอง จึงเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้การรักษาสิวยากมากขึ้น


--- ยารับประทานเรตินอยด์ (กรดวิตามินเอ) หรือ Roaccutane

เป็นยาที่ให้ผลดีมากในการรักษาสิวอักเสบรุนแรง ใช้รักษาสิวชนิดดื้อต่อการรักษาชนิดอื่น แต่มีผลข้างเคียงมาก ดังนั้นการใช้ยาต้องควบคุมสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
*** ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือ ซื้อยารับประทานเอง

หน้าที่
- ลดการอักเสบ ลดปริมาณและขนาดต่อมไขมัน และเพิ่มการลอกตัวของผิวหนัง
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- ราคาค่อนข้างสูง
- ปากแห้ง ผิวหนังแห้ง ริมฝีปากแห้งแตก ตาแห้งตาโดยเฉพาะในคนที่ใส่ Contact Lens
- ผมร่วง เล็บเปราะปวดกล้ามเนื้อ
- ไขมันในเลือดสูง
- เกิดอาการซึมเศร้า
- โรคตับอักเสบ
** ผลข้างเคียงของยาจะสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณของ ยา คือ ยิ่งใช้ยาในปริมาณสูงก็ยิ่งมีผลข้างเคียงที่กล่าว มาแล้วมากขึ้น รุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ถ้าจะตั้งครรภ์หยุดยาอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์หรือแท้ง ได้
** มีความเชื่อว่าหากกินยาครบตามกำหนด จะไม่เป็นสิวอีกเลย ซึ่งปัจจุบันพบว่าหลังได้ยาครบกำหนด ก็สามารถเป็นสิวใหม่ได้ แต่จะลดลงเท่านั้น

--- ยาฮอร์โมน หรือ ยาคุมกำเนิด

เลือกใช้ในผู้หญิงที่มีปัญหาการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ สังเกตได้จาก มีขนมาก ประจำเดือนผิดปกติ มีสิวมากร่วมกับ อ้วนผิดปกติ

หน้าที่
- ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งมีผล ลดปัจจัยกระตุ้นการผลิตไขมันจากต่อมไขมัน
ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- น้ำหนักเพิ่ม
- เป็นฝ้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คัดตึงเต้านม มะเร็งเต้านม
- ห้ามคนที่มีประวัติเป็น ไมเกรน หรือมีการอุดตันของเส้นเลือด เนื่องจากอาจมีการอุดตันของเส้นเลือดในบริเวณอวัยวะสำคัญ ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้
- ใช้ในเพศชาย อาจมีปัญหาทำให้ฮอร์โมนเพศผิดปกติได้
- ใช้เวลาในการรักษานาน 2-3เดือน จะพบว่าได้ผลดี



3... วิธีทางกายภาพ ...

--- การกดสิว

ใช้รักษาสิวอุดตันแบบชนิดหัวเปิด(สิวหัวดำ) ไม่ใช้รักษาสิวอักเสบ เนื่องจากทำให้สิวมีการอักเสบมากขึ้นได้ หัวสิวบางจุดหายได้ทันที เป็นวิธีรักษาที่รวดเร็วทันใจแต่ก็มีผลข้างเคียงมาก

ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย

- รอยแดง, หลุมสิว ;ไม่ว่าการกดสิวจะทำโดยใคร ก็ไม่สามารถการันตีว่า การอักเสบ,รอยแผลเป็น และหลุมสิวจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการรักษาสิวมีหลายวิธี ไม่ควรเลือกวิธีที่ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งต้องมาตามแก้ไขในภายหลัง
- รอยดำ ชัดเจน มีรอยอยู่นานเป็นปี หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
- เกิดเป็นสิวซีสต์ : จากการบีบทำลายโพรงขน ทำให้โพรงขนเปลี่ยนแปลง การเกิดสิวจึงผิดแปลกไป ทั้งขนาดใหญ่และลึกกว่าเดิม เป็นสิวซีสต์ที่รักษายากขึ้น


--- การฉีดสเตอรอยด์ใต้หัวสิว

การใช้ยาสเตอรอยด์ ฉีดเข้าไปใน ตำแหน่งที่อักเสบนั้น จะทำให้การอักเสบของสิวลดลงอย่างรวดเร็ว แต่สิวอุดตันในตำแหน่งนั้นไม่ได้หายไป และสเตอรอยด์เอง ก็สามารถทำ ให้เกิดสิวอุดตันใหม่ขึ้นมาได้อีก
ข้อพึงระวัง คือ การฉีดยาลึกเกินไปหรือปริมาณยามากเกินไป ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการฝ่อ ยุบตัวเป็นหลุม หรือ รอยแดง มากขึ้นได้

ข้อด้อย หรือ ข้อเสีย
- หลุมสิว : เนื่องจากการยุบตัวของผิวหนัง
- เกิดสิวซ้ำๆ, สิวซีสต์ : จากที่โพรงขนถูกทำลาย ทำให้เกิดสิวขึ้นที่เดิม โดยครั้งใหม่จะเป็นสิวที่ผิดปกติจากเดิม จะสังเกตได้ว่า สิวจะมีขนาดใหญ่และลึก เป็นลักษณะซีสต์ การรักษาก็จะยากขึ้น
- ผิวหน้าบาง
- เส้นเลือดผิดปกติ
- มีเลือดออก , เจ็บตัว และอาจเกิดการติดเชื้อมากขึ้น
- อาจเกิดรอยด่างในบริเวณฉีดยาซึ่ง อาจอยู่เป็นสัปดาห์หรือ เป็นเดือน


4... เลเซอร์ ...

เนื่องจากปัจจุบัน การรักษาสิวได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี และผลิตเครื่องมือที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา เพื่อช่วยลดการใช้ยา หรือ ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลง

หลักการ คือ
-ปล่อยช่วงคลื่นแสงจำเพาะ ไปลดหรือทำลายต่อมไขมันใต้ผิวหนัง โดยจะมีผลเฉพาะผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษาเท่านั้น เช่น Smooth Beam (Diode Laser) นอกจากช่วยในการทำลายต่อมไขมันแล้ว ยังช่วยกระตุ้นหรือเพิ่มการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ช่วยให้รอยแผลเป็นสิว และ หลุมสิวดีขึ้นอีกด้วย

ข้อด้อย และ ข้อเสีย
- ยังมีราคาค่อนข้างสูง
- เลเซอร์ที่เหมาะสมในการรักษาสิว ยังมีจำนวนน้อย และ ต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง
- มีการโฆษณาเกินจริงเกี่ยวกับการรักษาด้วยIPL(ไม่ใช่เลเซอร์) ทำให้มีการเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเลเซอร์และIPL อยู่มาก


*** ควรพิจารณา การรักษาแต่ละชนิดด้วยตัวเอง ว่าเหมาะสมหรือไม่เพียงไร ก่อนการตัดสินใจรักษา ***

นอนดึกกับสิว

การนอนดึกทำให้สิวเพิ่มขึ้น ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นสิวอักเสบ อาจเป็นเพราะ

1.ร่างกายอ่อนแอ เชื้อ Becteria ในสิวทำให้มีการอักเสบมากขึ้น

2.Hormone เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะใน ผู้หญิง ตัวอย่างเช่น บางคนประจำเดือน หรือขณะตั้งครรภ์ จะมีสิวเพิ่มขึ้น

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551

ว่าด้วยเรื่องสิว.....................................

สิว เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย และเป็นปัญหามากในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าสิวจะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่การที่มีสิวบนใบหน้า ก็ส่งผลให้ผู้เป็นเจ้าของ
เกิดความไม่สบายใจและหมดความมั่นใจในตนเองไม่มากก็น้อย ดังนั้นการที่
เรียนรู้เรื่องสิวจึงมีความสำคัญ อันดับแรกคงต้องทำความรู้จักสิวก่อน เมื่อเข้าใจ
การเกิดสิว แล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถลดอัตราการเกิดสิวได้ด้วยตนเอง


สิวแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

1. สิวไม่อักเสบ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน
แบ่ง เป็น 2 ลักษณะ คือ

- สิวหัวเปิด หรือสิวหัวดำ ซึ่งจะเห็นจุดสีดำข้างบนตุ่มสิว
- สิวหัวปิด เห็นเป็นตุ่มเล็ก ๆ หัวขาว ๆ

2. สิวอักเสบ คือสิวที่มีการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย เห็นเป็นตุ่มแดงๆ
หรือมีหนอง


สิว จะเป็นเฉพาะบริเวณต่อมไขมันเท่านั้น ดังนั้นจะพบว่าบริเวณที่มี
ต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง จึงเป็นสิวบ่อยกว่าบริเวณอื่น
โดยปัจจุบันเชื่อว่า เมื่อเข้าสู่ วัยรุ่นจะมีการกระตุ้นฮอร์โมนเพศทำให้เกิด
การสร้างไขมันขึ้นมามาก ไขมันที่ถูกสร้าง จากต่อมไขมันนี้จะถูกขับขึ้นมา
ตามรูขุมขนสามารถรวมตัวกับขี้ไคล (เซลล์ผิวหนังที่หลุดลอก) ทำให้เหนียวขึ้น
เป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตันตามมา ซึ่งยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยน
แปลงขี้ไคล เช่นเครื่องสำอางค์ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (ยิ่งใช้มากก็ยิ่งเพิ่ม
การเกิดสิว) เมื่อเกิดสิวอุดตัน ไขมันที่ถูกสร้างจากต่อมไขมันก็จะถูกขัง
อยู่ภายในท่อ แล้วเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่แล้วในท่อ จะทำให้เกิด การอักเสบและ
เป็น หนองขึ้น ซึ่งก็คือ สิวอักเสบนั่นเอง

ปัญหาสิว นั้น การได้รับคำแนะนำและวิธีการรักษาที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อ
ป้องกัน ผลที่จะ เกิดตามมา จากการรักษาผิดพลาด เช่น รอยดำสิวและหลุมสิว
ซึ่งนอกจาก วิธีการรักษา ที่ถูกต้องแล้วนั้น วิธีการป้องกันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและ
สำคัญเช่นกัน


การปฏิบัติตัวง่ายๆ ป้องกันไม่ให้มีการอุดตันที่รูขุมขน ซึ่งช่วยลดอัตราการเกิดสิว
มีดังนี้

- การล้างหน้าตามแนวโพรงขน เพื่อลดการเกิดการอุดตันที่รูขุมขน
** การทาครีม, เช็ดเครื่องสำอางค์,เช็ดหน้า ก็เช่นกัน

- การทำความสะอาดผิวหน้าบ่อยๆ โดยเฉพาะการเช็ด ถู หรือขัดผิว เนื่องจาก
เข้าใจว่า บริเวณที่เป็นสิวสกปรก ยิ่งจะทำให้สิวแย่ลงและการอักเสบยิ่งมากขึ้น

- ห้าม... กด แกะ หรือบีบ สิว ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม เพราะก็ทำให้เกิด
รอยแดง, รอยดำและ หลุมสิวไม่ต่างกัน ซ้ำร้ายอาจเกิด การติดเชื้ออักเสบ
มากขึ้นได้

- พึงระวังการใช้เครื่องสำอางค์ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ เพราะเป็นต้นเหตุ
ให้ เกิดสิวได้ เนื่องจากเพิ่มการอุดตันที่รูขุมขน **งดได้จะดีที่สุด

- ห้าม... รักษาสิวโดยวิธีการฉีดสิว เนื่องจากจะทำให้เกิดหลุมสิวถาวรได้


ในกรณีที่เป็นไม่มาก อาจปล่อยให้หายเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ สิวเป็นโรคที่
หายได้เอง หรือเพียงใช้ยาทาภายนอกเท่านั้น นอกจากนี้การรักษาสิวไม่สามารถ
ทำให้สิวหายขาดได้ (ไม่เป็นสิวอีกเลย ตลอดชีวิต --เป็นไปไม่ได้) หากแต่
เป็นการซื้อเวลาให้ เติบโตพ้นวัย ที่เป็นสิวเท่านั้นซึ่งจะแตก ต่างกันไปในแต่ละคน
แต่ถ้าในกรณีที่เป็นมาก มีสิวอักเสบ คงต้องปรึกษาแพทย์ เพราะวิธีการรักษามีหลากหลาย จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษา ตามความรุนแรงของสิวที่เป็น

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551

เว็บนี้จัดทำขึ้นเพื่อเก็บประสบการณ์ส่วนตัวและบันทีกข้อมูลความรู้ต่างๆด้านผิวหนังไว้

- ความรู้ที่อ่านจากหนังสือ

- การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านผิวหนัง

- การเขียนบทความ

- ...